ระบบต่อมไร้ท่อ


ระบบต่อมไร้ท่อ (endocrine system) ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ สร้างและหลั่งพวกฮอร์โมน(Hormones) แล้วส่งออกนอกตัวเซลล์โดยผ่านทางกระแสเลือด หรือน้ำเหลืองไปยังเป้าหมาย คือ อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ต่อมไร้ท่อบางชนิดสร้างฮอร์โมน ออกมาร่วมทำงาน หรือถูกควบคุมการหลั่งโดยระบบประสาท เรียกว่า neuroendocrine system เช่น ต่อมใต้สมอง (pituitary gland) เป็นต้น

ลักษณะโครงสร้างของต่อมไร้ท่อ  

โดยทั่วไป ประกอบด้วย สองส่วนหลักคือ
1. Parenchyma (เนื้อต่อม) ประกอบด้วย เซลล์เนื้อผิวชนิดที่ เรียกว่า secretory cells และเป็นเซลล์สำคัญที่สร้างฮอร์โมน ซึ่งเซลล์เหล่านี้ อาจเรียงตัวเป็นกลุ่ม (clumps) ขดเป็นกลุ่ม (cord) หรือแผ่น (plates) โดยมีเส้นเลือดฝอยชนิด fenestrated หรือ sinusoid capillaries และเส้นน้ำเหลือง จำนวนมากแทรก เพื่อทำหน้าที่หล่อเลี้ยง และลำเรียงฮอร์โมน ออกจากเนื้อต่อมเข้าสู่วงจรไหลเวียน ของกระแสเลือดไปกระตุ้นอวัยวะต่าง ๆ ตามเป้าหมาย (target organs) ที่อยู่ห่างไกล

 
 2. Stroma (โครงร่างพยุงเนื้อต่อม) ประกอบด้วย เนื้อประสานโดยให้เป็นเปลือกหุ้ม และโครงร่างให้เซลล์ของเนื้อต่อมเกาะ ในต่อมไร้ท่อบางชนิดพบมีส่วน ของเปลือกหุ้มยื่นเข้าไปแบ่งเนื้อต่อม ออกเป็นส่วน เรียกว่า Trabaeculae

 

 

ต่อมไร้ท่อแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. ต่อมที่พบอยู่เดี่ยว

  • ต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) เป็นต่อมที่อยู่ติดกับส่วนล่างของสมองส่วนไฮโปทาลามัส แบ่งได้ 3 ส่วนคือ ต่อมใต้สมองส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลัง

    ต่อมใต้สมองส่วนหน้าและส่วนกลาง มีต้นกำเนิดมาจากเนื้อเยื่อชนิดเดียวกัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเป็นหน่วยเดียวกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นต่อมไร้ท่อแท้จริง ขณะที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อประสาท ที่ไม่ได้สร้างฮอร์โมนได้เอง แต่มีปลายแอกซอนของนิวโรซีครีทอรีเซลล์ (Neurosecretory cell) จากไฮโปทาลามัสมาสิ้นสุด และหลั่งฮอร์โมนประสาทออกมาสู่กระแสเลือด

    ต่อมใต้สมองมีขนาดประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร

     ต่อมใต้สมอง  มีเปลือกหุ้มที่ประกอบด้วย เนื้อประสาน เนื้อต่อมแบ่งย่อยออกเป็น 4 ส่วนคือ

    1. Pars Anterior (Pars distalis) ส่วนนี้มีลักษณะคล้ายต่อมประกอบด้วย เซลล์ 2 ชนิดคือ

    a) Chromophils เป็นเซลล์ที่ชอบติดสี แบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด
    (ศึกษาจากการ ย้อมด้วย H&E )
    1. Acidophils เซลล์ชนิดนี้ cytoplasm ติดสีชมพู พบส่วนใหญ่บริเวณ - ส่วนกลางของ
    pars distalis
    2. Basophils เป็นเซลล์ที่ cytoplasm ติดสีน้ำเงินเข้มและมีขนาดใหญ่กว่าเซลล์ ชนิดแรก พบบ่อยบริเวณรอบนอกของ pars distalis
    b) Chromophobe เป็นเซลล์ที่ไม่ชอบติดสี มีขนาดเล็กที่สุดเล็ก ภายใน cytoplasm ไม่บรรจุ granules มักพบเป็นกลุ่มเห็นแต่เฉพาะนิวเคลียส

    2.Pars Intermedia มีลักษณะเป็นกลุ่มของถุงน้ำ (colloid-filled follicles) เปลือกของถุงน้ำดาดด้วยเซลล์ชั้นเดียวขนาดเล็กติดสีน้ำเงินเข้ม

    3.Pars Nervosa and Infundibular Stalk ส่วนนี้มีลักษณะ เหมือนเนื้อประสาท เซลล์ที่พบใน pars nervosa คือ pituicytes มีลักษณะคล้าย neuroglial cells (เซลล์พยุงของเซลล์ประสาท) นอกจากนั้นพบ unmyelinated nerve fibers ที่มีบริเวณส่วนปลาย ขยายออกและบรรจุ neurosecretions ที่เรียกว่า Herring bodies

    4.Pars Tuberalis ส่วนนี้ประกอบด้วยเซลล์ทรงลูกเต๋าที่เรียงตัว ม้วนเป็นขด อาจจะพบมีลักษณะเป็นถุงน้ำที่บรรจุ colloid

    ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า

    ต่อมใต้สมองส่วนนี้ผลิตฮอร์โมนต่างๆ ส่วนหนึ่งถูกควบคุมจากฮอร์โมนประสาทจากไฮโปทาลามัส

    ฮอร์โมนที่ผลิต อวัยวะเป้าหมาย จุดประสงค์
    โกรทฮอร์โมน
    Growth Hormone : GH
    ส่วนทั่วไปของร่างกาย ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต
    โกนาโดโทรฟิน
    Gonadotrophin : Gn
    อวัยวะสืบพันธุ์ กระตุ้นการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์
    โพรแลกทิน
    Prolactin
    ต่อมน้ำนม กระตุ้นต่อมน้ำนมสร้างน้ำนมหลังคลอด
    อะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิน
    Adrenocorticotrophin / adrenocorticotrophic Hormone : ACTH
    ต่อมหมวกไต กระตุ้นต่อมหมวกไตส่วนนอกให้หลั่งฮอร์โมนตามปกติ
    ไทรอยด์สติมิวเลติงฮอร์โมน
    Thyroid Stimulating Hormone : TSH
    ต่อมไทรอยด์ กระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้สร้างฮอร์โมนเป็นปกติ
    เอนดอร์ฟิน
    Endorphine

    ระงับความเจ็บปวด, ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์


  •  ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ โดยอยู่ด้านข้างและใต้ต่อกระดูกอ่อนไทรอยด์ (thyroid cartilage) และอยู่ลึกลงไปจากกล้ามเนื้อสเตอร์โนไฮออยด์ (sternohyoid) , สเตอร์โนไทรอยด์ (sternothyroid) และโอโมไฮออยด์ (omoyoid) ต่อมนี้มี 2 พู แผ่ออกทางด้านข้างและคลุมพื้นที่บริเวณด้านหน้าและด้านข้างของหลอดลม (trachea) รวมทั้งส่วนของกระดูกอ่อนคริคอยด์ (cricoid cartilage) และส่วนล่างของกระดูกอ่อนไทรอยด์ (thyroid cartilage) ทั้งสองพูนี้จะเชื่อมกันที่คอคอดไทรอยด์ (isthmus) ซึ่งอยู่ที่บริเวณด้านหน้าต่อกระดูกอ่อนของหลอดลม (trachea cartilage) ชิ้นที่สองหรือสาม  

    ต่อมไทรอยด์มีต้นกำเนิดมาจากการบุ๋มตัวของของคอหอย (pharynx) ที่บริเวณโคนลิ้น บริเวณที่เริ่มมีการบุ๋มตัวลงไปเรียกว่า ฟอราเมน ซีกัม (foramen caecum) แล้วลงไปตามท่อที่เรียกว่า ท่อไทโรกลอสซัล (thyroglossal duct) ซึ่งปกติจะหายไปเมื่อโตเต็มที่ แต่อาจพบได้ในลักษณะของถุงน้ำ (cyst) หรือช่องเปิดที่ผิดปกติ (fistula) มีส่วนน้อยที่อาจเหลือเป็นเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ที่โตผิดที่ (ectopic thyroid tissue) ซึ่งความผิดปกตินี้สามารถแก้ไขได้โดยการผ่าตัด

    ต่อมไทรอยด์  มีเปลือกหุ้มและยื่นให้เป็น septa แทรก เข้าไปในเนื้อต่อม เซลล์ของเนื้อต่อมมีลักษณะเป็น colloid-filled follicles โดยเปลือกหุ้ม ถุงน้ำ ประกอบด้วยเซลล์ 2 ชนิดคือ 1. Follicular cells เป็น simple cuboidal epithelium (ส่วนใหญ่) สร้างและหลั่ง
    iodine-containing hormone T3 และ T4
    2. Parafollicular cells (clear cells) แทรกอยู่กับ follicular cells สร้างและหลั่ง Calcitonin

  •  ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อเล็ก ๆ ที่ฝังอยู่ด้านหลังของต่อมไทรอยด์ด้านละ 2 ต่อม ทำหน้าที่ผลิต และหลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่งเรียกว่า พาราทอร์โมน (parathormone) เป็นสารจำพวกเพปไทด์ ประกอบด้วยกรดอะมิโน 84 โมเลกุล ทำหน้าที่ร่วมกับแคลซิโทนิน และวิตามินดีในการรักษาสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย โดยจะออกฤทธิ์ที่ไต กระดูกและลำไส้ ดังนี้
    1. เพิ่มการดูดซึมแคลเซียมกลับจากท่อไตเข้าสู่กระแสเลือด โดยแลกกับฟอสเฟต
    2. เพิ่มการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้
    3. เพิ่มการสลายกระดูก โดยมีการปลดปล่อยแคลเซียมจากกระดูกออกสู่กระแสเลือด

    ต่อมพาราไทรอยด์  มีเปลือกหุ้มและ septa ลักษณะ ของพวกเซลล์เรียงตัวเป็นแผ่น ประกอบด้วยเซลล์ 2 ชนิด 1. Chief cells พบจำนวนมาก พวกเซลล์มีขนาดเล็กแต่มีนิวเคลียสค่อนข้างใหญ่
    2. Oxyphils พบจำนวนน้อย พวกเซลล์มีขนาดใหญ่ cytoplasm ติดสีกรด (ชมพู) และ มักอยู่กันเป็นกลุ่มๆ

  •  ต่อมหมวกไต (adrenal gland,suprarenal gland) เป็นต่อมไร้ท่อ (endocrine gland) ผลิตฮอร์โมนสำคัญๆหลายชนิด เช่น อะดรีนาลิน จะอยู่เหนือไตทั้ง2ข้าง มีหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของโลหิตและการหดตัวของเลือด ต่อมหมวกไตแบ่งได้เป็นสองส่วนคือ

    ต่อมหมวกไตส่วนนอก (Adrenal cortex) สร้างฮอร์โมนกลุ่มสเตอรอยด์ได้แก่
    • กลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoid) เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมเมตาบอลิซึมของน้ำตาล ไขมัน ต่อต้านการอักเสบ
    • อัลโดสเตอโรน (aldosterone) เพิ่มการดูดกลับของเกลือในไต
    • เทสโทสเตอโรน เพิ่มลักษณะของร่างกายที่เป็นเพศชายและการเติบโต
    ต่อมหมวกไตส่วนใน (Adrenal medulla) สร้างฮอร์โมนอีพิเนฟฟริน (Epinephrine) และนอร์อีพิเนฟฟริน (norepinephrine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโน มีหน้าที่เพิ่มระดับน้ำตาลและกรดไขมันในเลือด เพิ่มอัตราเมตาบอลิซึม เพิ่มการเต้นของหัวใจ เพิ่มการบีบตัวของเส้นเลือด

    ต่อมหมวกไต มีเปลือกหุ้มเนื้อต่อม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เพราะมีแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน คือ

    1. Cortex เนื้อต่อมส่วนนอกกำเนิดมาจาก mesodermal cells แบ่งย่อย ออกเป็น 3 บริเวณตามลักษณะของขนาด รูปร่าง และการเรียงตัวของพวกเซลล์ โดยมีเส้นเลือดฝอยชนิด sinusoidal capillaries แทรกได้แก่

    a) Zona Glomerulosa พบอยู่ใต้เปลือกที่หุ้มการเรียงตัวของเซลล์ มี ลักษณะขดเป็นกลุ่ม คล้าย glomerulus ของเนื้อไต
    b) Zona Fasciculata พบอยู่ถัดลงมา เนื้อต่อมส่วนนี้หนาที่สุด เซลล์รียงตัว เป็นแท่ง และมีลักษณะรูปทรงลูกเต๋า ภายในเซลล์ใสบางครั้งเรียกเซลล์ชนิดนี้ว่า spongiocyte c) Zona Reticularis พบอยู่ด้านในสุดของเนื้อต่อมส่วนนอก ประกอบด้วย เซลล์ขนาดเล็ก ติดสีเข้ม และต่อเนื่องกันคล้ายร่างแห

    2. Medulla เนื้อต่อมส่วนในสุดมีแหล่งกำเนิดมาจาก neural crest cells ประกอบด้วยเซลล์ขนาดใหญ่ ภายใน cytoplasm บรรจุ granules เรียกเซลล์ชนิดนี้ว่า chromaffin cells นอกจากนั้นยังพบ autonomic ganglion cells ขนาดใหญ่ ลักษณะสำคัญของเนื้อต่อมส่วนนี้คือพบว่ามี เส้นเลือดดำขนาดใหญ่บรรจุอยู่

  •  ต่อมไพเนียล (Pineal Gland) เป็นต่อมไร้ท่ออยู่เหนือสมอง อยู่บริเวณกึ่งกลางของสมองส่วน
    ซีรีบรัมซ้าย และขวา มีขนาดเท่ากับเม็ดข้าวมีสีแดงปนน้ำตาล เรียกชื่อเต็มว่าเอน อะเซทิล ไฟฟ์เมทอคซิทริพทามีน( N acetyl -5- methoxytryptamine) เนื่องจากรูปร่างคล้ายลูกสน (pine cone) จึงเรียกว่าต่อมไพเนียล
    ในตอนกลางวันจะสร้างเซโรโตนิน กระตุ้นให้เราลุกตื่นขึ้น พอตกกลางคืนก็สร้าง เมลาโตนิน ให้เรารู้สึกง่วงนอน จึงเปรียบเสมือนนาฬิกาชีวภาพ

    ต่อมไพเนียล เปลือกที่หุ้มมาจาก pia mater มี septa แทรกในเนื้อต่อม ประกอบด้วยเซลล์
    2 ชนิดคือ

    1. Pinealocytes เป็นเซลล์ที่มีนิวเคลียสขนาดใหญ่
    2. Neuroglial cells เป็นเซลล์ขนาดเล็กมีนิวเคลียสติดสีเข้มกว่าเซลล์ชนิดแรก ลักษณะสำคัญในเนื้อต่อมไพเนียลคือพบ Brain Sand (corpora arenacea) มีลักษณะเป็น calcified accretions ติดสีม่วงเข้ม

 2. พวกเซลล์ต่อมไร้ท่อที่กระจัดกระจายหรือเป็นกลุ่ม
         โดยพบอยู่ร่วมกับพวกเซลล์ต่อมมีท่อ หรือร่วมกับอวัยวะอื่นของร่างกาย เช่น Islets of Langerhans of pancreas,Interstitial cells of Leydig in testis และ APUD cells (Amine Precursor Uptake and Decarboxylation) ซึ่งกลุ่มเซลล์ชนิดหลังสุดประกอบด้วย hormone-secreting cells สร้างและหลั่ง สารเคมีที่มีโครงสร้างคล้าย peptides และ active amines สารเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนหรือ neuro- transmitters พบเซลล์เหล่านี้ กระจัดกระจายแทรกในเนื้อผิว ที่ดาดในท่อทางเดินอาหาร ทางเดินลมหายใจ ในระบบไตและทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น APUD cells มีบางตัวกำเนิดมาจาก neuroectoderm เซลล์ในกลุ่มนี้บางตัว สามารถสาธิตให้เห็นในบทที่เกี่ยวกับ อวัยวะเหล่านั้น
ยกเว้นพวก APUD cells เพราะส่วนใหญ่บ่งชี้ได้ ต้องย้อมสีพิเศษ หรือศึกษาในระดับ กล้องจุลทรรศน์
อิเล็กตรอน